วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

SCM อาวุธการแข่งขันธุรกิจสายพันธุ์ใหม่

การสร้าง Visibility ในการขนส่ง นอกจากทำให้ผู้ใช้บริการสามารถติดตามสถานะสินค้าได้แล้ว ยังเป็นการแชร์ข้อมูลระหว่างผู้ขนส่งสินค้าด้วยกัน คาดคะเนความต้องการใช้บริการล่วงหน้า เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง ลดภาวะตึงเครียด
Visibility เป็นความพยายามสำคัญอีกหนึ่งเรื่องในการบริหารเครือข่าย Supply Chain Management (SCM) หรือหุ้นส่วนทางการค้าของเราให้มีศักยภาพในการแข่งขันในยุคนี้ Visibility in Supply Chain เปรียบเสมือนว่าเรามองเห็นความเป็นไปหรือการดำเนินงานขององค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับองค์กรเราได้ชัดเจน ทำให้ความต่อเนื่องในการส่งมอบสินค้าและบริการ หรือการต่อยอดมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการทำได้รวดเร็ว ไม่ต้องมีการสอบถามตรวจสอบหรือรอคอยโดยไม่จำเป็น รวมทั้งรับทราบถึงความสำเร็จหรือปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกขั้นตอนในเครือข่าย Supply Chain ของเรา เพื่อให้สามารถบริหารจัดการกับปัญหาและมีการพัฒนาไปด้วยกันทั้งเครือข่ายได้รวดเร็ว ซึ่งหากทำได้จะช่วยลดความเครียดของทุกฝ่ายในการรอคอยข้อมูลที่เกี่ยวข้องลงได้มาก และช่วยกันบริการลูกค้าได้ดีขึ้น ซึ่งหมายถึงการจัดเก็บรายได้เข้าองค์กรได้รวดเร็วขึ้นด้วย Visibility จึงเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเครือข่ายของเรา

บทความในฉบับนี้จะขอกล่าวถึง Visibility in Transport เพราะการขนส่งนับเป็นส่วนที่ทุกฝ่ายต่างให้ความสำคัญในการพัฒนา ปัจจุบันผู้ประกอบการขนส่งหลายรายเริ่มให้บริการ Trace & Track ให้กับลูกค้าที่สามารถตรวจสอบสถานะสินค้าของตนเองผ่านทาง website โดยลูกค้าที่ลงทะเบียนไว้กับบริษัทกดหมายเลขใบส่งของ หรือ bill of lading หรือ airway bill ก็จะทราบว่าสินค้าของคุณอยู่ตรงไหน หรือใช้ระบบ GPS (Global Positioning System) ใช้ดาวเทียมค้นหารถขนส่งควบคู่กับการติดกล่องดำควบคุมตรวจสอบการเดินรถได้ตลอดเวลา ระบบนี้เดิมทีจะให้ความสำคัญกับรถขนส่งวัตถุอันตราย เช่น น้ำมัน และรถขนส่งเงินหรือของมีค่า เพื่อตรวจสอบ fleet รถของตัวเองอย่างเข้มงวด ตรวจสอบความเร็วรถ เส้นทาง และพฤติกรรมการขับรถ แต่ปัจจุบันเริ่มเป็นอีกหนึ่งบริการที่ผู้ประกอบการขนส่งมีไว้ให้บริการกับลูกค้าทั่วไป ซึ่งบริษัทผู้ให้บริการติดตั้งและดำเนินการระบบ GPS ในเมืองไทย เร่งสร้างแรงจูงใจให้กับผู้บริโภคโดยการออก package มาให้ผู้ประกอบการขนส่งได้เลือกใช้ ผู้ประกอบการขนส่งหลายรายในเมืองไทยก็ให้บริการแจ้ง POD (Proof of Delivery) แก่ลูกค้าทุกเที่ยวที่ทำการส่งเรียบร้อยแล้วทันทีเช่นกัน นอกจากนี้หลายบริษัทก็ให้ความสนใจศึกษาการนำ RFID (Radio Frequency Identification) มาใช้ เมื่อสินค้าทุกชิ้นมีการติดชิป RFID และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นฝ่ายผลิต ฝ่ายคลัง ฝ่ายขนส่ง ฝ่ายจำหน่าย มีเครื่องอ่าน RFID ซึ่งระบบนี้จะสามารถอ่านข้อมูลสินค้าได้ครั้งละมากๆ อ่านครั้งเดียวได้ทั้งพาเลทหรือทั้งคันรถ ระบบจะบันทึกข้อมูลสถานะของสินค้าทั้ง lot นั้นเข้าระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งทุกฝ่ายจะรับทราบสถานะสินค้าได้ทันทีว่าอยู่ในขั้นตอนใด เพื่อสามารถวางแผนงานต่อเนื่องได้แบบพอดีเวลา จัดสรรและใช้ทรัพยากรได้อย่างเหมาะสม ในอนาคตอันใกล้นี้เราคงได้เห็นพัฒนาการนี้ในบ้านเรา

ความพยายามเหล่านี้ก็เพื่อสร้าง Visibility ให้กับลูกค้าเพื่อให้ลูกค้าสามารถติดตามสถานะสินค้าของตนได้ตลอดเวลาที่ผู้ประกอบการขนส่งรับช่วงสินค้าในการส่งต่อไปยังปลายทางนั่นเอง อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีหลากหลายประเภทนี้ยังมีข้อจำกัดในการใช้งาน เนื่องจาก Visibility ต้องเกี่ยวข้องกันหลายองค์กร ที่สำคัญที่สุดความพร้อมในการให้ข้อมูลและความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวของแต่ละองค์กรมีไม่เท่ากัน การสื่อสารระหว่างกันในปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบทั้งโทรศัพท์ โทรสาร e-mail EDI บริษัทใหญ่ก็มี software จำพวก ERP SCM และ TMS เป็นต้น รูปแบบการใช้เทคโนโลยีก็ไม่เหมือนกัน โดยมากจะเป็นในลักษณะต่างฝ่ายต่างทำมากกว่าจะใช้ระบบร่วมกัน การจัดการกับข้อมูลหลากหลายช่องทางจึงยังต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการประสานงานอยู่ต่อไป

ในส่วนของการขนส่งซึ่งมีฝ่ายที่เกี่ยวข้องกันอย่างน้อย 3 ส่วน ส่วนที่หนึ่งคือ shipper ผู้ต้องการส่งสินค้าส่วนใหญ่คือผู้ผลิตสินค้า สอง ผู้ประกอบการขนส่งสินค้า และสาม ผู้รับสินค้าปลายทาง ซึ่งเป็นลูกค้าคนสำคัญของ shipper นั่นเอง
ความกังวลของ shipper คือความพร้อมความเพียงพอของรถที่จะทำการขนส่ง การจัดการกับการเปลี่ยนแปลงความต้องการขนส่งไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงในเสี้ยววินาทีสุดท้าย หรือการจัดให้มีการขนส่งแบบเร่งด่วนทดแทน เป็นเรื่องที่จะจัดการอย่างไรให้ขนส่งได้ตามแผนงานด้วยต้นทุนที่เหมาะสม รวมทั้งคุณภาพการบริการของผู้ประกอบการขนส่งและส่งคืนเอกสาร POD ได้รวดเร็วด้วย ในขณะที่ผู้ประกอบการขนส่งจะกังวลกับการใช้รถบรรทุกได้เต็มอรรถประโยชน์หรือเปล่า ต้องบรรทุกครึ่งคันหรือวิ่งเที่ยวเปล่ามากน้อยเพียงใด จะจัดสรรเวลารถออกอย่างไรในชั่วโมงเร่งด่วนหรือหลีกเลี่ยงการติดเวลาอย่างไร เพราะเรื่องเหล่านี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับผลกำไรขาดทุนในการประกอบการ ส่วนผู้รับสินค้าปลายทางก็ต้องการความถูกต้อง รวดเร็ว และแน่นอนในการได้รับสินค้าด้วยราคาที่สมเหตุสมผล คุณภาพสินค้าและหีบห่อไม่เสียหายระหว่างการขนส่ง รวมทั้งขนส่งได้ตามเวลาและวิธีการที่สามารถนำสินค้าไปจำหน่ายหรือดำเนินการต่อได้อย่างสะดวกรวดเร็วด้วย
นอกจากนี้ทุกฝ่ายยังมีข้อจำกัดในเรื่องทรัพยากรและเวลาไม่ว่าจะเป็นจำนวนและขนาดรถ พื้นที่หรือประตูในการรับส่งสินค้า จำนวนอุปกรณ์และบุคลากรในการช่วยขนถ่ายสินค้า ความล่าช้าในการรับและส่งต่อข้อมูลที่จำเป็นในการวางแผนของทุกฝ่าย การสร้าง Visibility ในกระบวนการขนส่งจะช่วยให้ทุกฝ่ายได้รับผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจอย่างต่อเนื่องและไม่ต้องเครียดกับความกังวลต่างๆ ข้างต้นมากจนเกินไป

การแบ่งปันข้อมูลระหว่างกันทำให้ทุกฝ่ายรับทราบศักยภาพและความต้องการของทุก shipment ไว้ล่วงหน้าทันทีที่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรับทราบข้อมูล ตั้งแต่ประเภท จำนวนสินค้า พื้นที่รับสินค้าต้นทาง-ปลายทาง เวลารับ-ส่งสินค้า ประเภทและจำนวนรถ การจัดสรรอุปกรณ์และผู้ช่วยขนสินค้า การดำเนินการขนส่งตามคำสั่ง การจัดส่ง POD การรับ-จ่ายเงิน การรายงานผลการปฏิบัติงานตาม KPI ที่ได้ตกลงกันไว้ การแจ้งเตือนเมื่อมีการรับ-ส่งสินค้าล่าช้ากว่าแผนงาน รายงานประสิทธิภาพการบรรทุกสินค้าหรือจำนวนและเส้นทางวิ่งเที่ยวเปล่า การแจ้งเหตุอุบัติเหตุ รายการต้นทุนการขนส่งการขนส่งที่เพิ่มขึ้นหรือความเสียหายที่เกิดขึ้น ข้อมูลเหล่านี้มีจำนวนมากทั้งรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน หากต้องมีการประสานขอข้อมูลทุกครั้งจะทำให้สิ้นเปลืองทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย รวมทั้งยังอาจผิดพลาด ตกหล่น เพราะผู้ทราบข้อมูลอาจไม่อยู่ให้ข้อมูลได้ในบางเวลา รวมทั้งความล่าช้าในการปิดงานและการจัดเก็บรายได้ด้วย หากมีการวางแผนจัดการข้อมูลและระบบแจ้งเตือนไว้ดี ทุกฝ่ายเห็นความเป็นไปของกันและกัน ก็จะทำให้การดำเนินงานร่วมกันมีความสุขขึ้นและมีเวลาและข้อมูลในการพัฒนาแก้ไขปัญหาร่วมกันอีกด้วย

ระบบที่กล่าวมาข้างต้นล้วนเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เกี่ยวข้องตลอดสายโซ่อุปทาน ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนในการทำงานหรือแม้แต่การนำเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมาใช้ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในการนำสิ่งเหล่านี้มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจของตนเอง

ที่มา : http://www.logisticsdigest.com/index.php?option=com_content&task=view&id=138&Itemid=73

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น